ปฐมบท




จดหมายเหตุฯ นี้ จัดทำขึ้นโดยคณะลูกศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญ และจารึกประวัติศาสตร์ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

แม้ว่าองค์หลวงตาฯ ท่านจะไม่ให้เน้นเรื่องการก่อสร้างวัตถุ หากจะมุ่งหมายให้ลูกศิษย์เน้นเรื่องจิตภาวนา และข้อวัตรปฏิบัติ ดังเทศนา พอจะยกมาเป็นตัวอย่างได้ดังนี้

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
สร้างเจดีย์ให้โลก
ใครประกาศกันว่าจะสร้างเจดงเจดีย์อะไรให้เรา อย่ามายุ่งนะ เจดีย์ให้โลกเราสร้างพอแล้วให้เอาไปเป็นที่ระลึก เป็นคติเครื่องเตือนใจ นั้นเป็นผลอันยิ่งใหญ่ เจดีย์นี้มีประโยชน์อะไร เรากำลังสร้างเจดีย์ให้โลกเวลานี้ ที่ว่าช่วยโลกๆ นำโลก เราแทบเป็นแทบตายทุกวันนี้ ช่วยโลกนี้เป็นเจดีย์ ให้เป็นคติเครื่องเตือนใจแก่โลก เรียกว่าเราไม่เอาอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่เอา เราเปิดออกหมดเลย เงินถ้าหากว่าจะคิดถึงเป็นเงินในวัดนี้ ไอ้พันล้านเราไม่อยากพูดนะ ถ้าว่าหมื่นล้านขึ้นไปนี้จะพอพูดได้ ปัดออกหมดเลย ไม่เอา เอาธรรมเข้าสู่ใจนี้ผึงพอ นั่นเอาตรงนั้นแหละ เอาละที่นี่เลิกกัน..

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๐
อะไรจะสว่างไสวยิ่งกว่าจิตใจ
เรื่องของธรรมใหญ่โตยิ่งกว่าเรื่องอะไร สร้างโบสถ์หลังหนึ่งขึ้นมานี้เปิดทางตั้งแต่ทางหน้าวัดเข้าถึงสถานที่สร้างโบสถ์ เป็นโรงงานทั้งหมด ทั้งหญิงทั้งชายเข้าทั้งคืนทั้งวัน หลั่งไหล ประตูวัดต้องเปิดตลอดเวลา วัดนี้แหลกหมดเลย ได้โบสถ์ขึ้นมาหลังหนึ่ง แต่พระตายหมด ใช้ได้ไหมล่ะ พระพุทธเจ้าเลิศด้วยธรรมนะ สาวกทั้งหลายที่เราได้ถือว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ท่านเลิศด้วยธรรม ท่านไม่ได้เลิศด้วยวัตถุ ก่อนั้นสร้างนี้ ยุ่งนั้นยุ่งนี้ หาเกาในที่ไม่คันอย่างนั้นใช้ไม่ได้นะ ควรพิจารณาบ้าง การพูดนี้เรานำธรรมมาพูด เราไม่ได้พูดสุ่มสี่สุ่มห้า อวดอำนาจบาตรหลวงป่าๆ เถื่อนๆ อย่างนั้นเราไม่มี เราพูดตามหลักธรรมเท่านั้นละ 
“โบสถ์หลังหนึ่งลองดูซิ อย่างวัดป่าบ้านตาดสร้างโบสถ์หลังหนึ่งนี่ พระเณรตายฉิบหายหมดจากศีลจากธรรม จากจิตตภาวนา เปิดประตูวัดไว้ตั้งแต่บัดนั้นเข้าถึงที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนอย่างน้อยปีหนึ่ง โบสถ์ที่จะสำเร็จ แล้วคนที่มาสร้างโบสถ์ เป็นคนประเภทใดบ้าง รู้จักศีลจักธรรมอะไรบ้างหรือเปล่า มีทั้งหญิงทั้งชายมาแตกลูกแตกแม่กันอยู่นี่ เต็มอยู่นี่น่ะ แล้ววัดนี้หมดเลย เราจึงไม่ให้สร้าง เราเห็นเรื่องใหญ่โต เรื่องธรรมเป็นเรื่องจำเป็นมากยิ่งกว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น ต้องเล็งดูเสียก่อนซิทำอะไร..

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพมหานคร
เมื่อค่ำวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
สำนักงานของพระกรรมฐาน
พ่อแม่ครูจารย์มีชีวิตอยู่นั่นเป็นอันดับหนึ่ง ทุกอย่างเป็นอันดับหนึ่งทั้งนั้น ครั้นต่อมามันจำเป็นหมู่เพื่อนก็มาเคารพนับถือเราเอง เราก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนกับฝูงแต่เขามาเคารพเราเอง เช่นอย่างวัดป่าบ้านตาดนี้มีน้อยเมื่อไร พระกรรมฐานปีนี้ดูเหมือน ๕๘ องค์ ตามธรรมดาเราจะรับอย่างมากไม่ให้เลย ๕๐ องค์ เพราะสถานที่ที่ภาวนาอยู่ข้างในลึกๆ เป็นกระต๊อบเป็นร้านเล็กๆๆ อยู่ข้างใน ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าดังที่ศาลาใหญ่วัดป่าบ้านตาด ๒ หลังนะ ๒ หลังนี่มันกำลังแข่งกันศาลาใหญ่อยู่กำแพงในก็มี อยู่กำแพงนอกก็มี กำลังแข่งกัน แต่ที่ภาวนาของพระนี้อยู่ข้างใน เป็นร้านเล็กๆๆ ท่านอยู่กระต๊อบอย่างนั้นเราพอใจด้วย
เพราะฉะนั้นเราจึงไม่พูดถึงเรื่องการก่อการสร้างกุฏิใดๆ ยิ่งกว่าการก่อการสร้าง การอบรมส่งเสริมจิตใจให้เป็นทางจิตตภาวนาล้วนๆ เพราะฉะนั้นใครเข้าไปในวัดนั้นจึงให้อยู่แต่ที่บริเวณศาลาโล่งๆ นี้เท่านั้น นอกจากนั้นเขียนติดไว้ว่าห้ามเข้าๆ คือว่าห้ามเข้าไปข้างในเพราะอะไร นั่นคือบริเวณการประกอบความพากเพียร เรียกว่าสำนักงานของพระกรรมฐานก็ไม่ผิด ทางจงกรมของท่านมีติดๆ แล้วที่อยู่ของท่านก็เหมาะสมๆ ประมาณ ๕๐ องค์ พอเหมาะ ถ้ามากกว่านั้นมันจะถี่กันเกินไป ไม่สะดวก เพราะฉะนั้นเราจึงรับได้เพียง ๕๐ ปีนี้ปาเข้าไปถึง ๕๘ นั่นน่ะมาก ให้ท่านประกอบความพากเพียรไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย 
เราเป็นผู้สั่งเองไม่ให้ใครเข้าไป ให้พระท่านบำเพ็ญภาวนาไม่ยุ่งอะไรกับใคร ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางครัวทางศาลานี้ ก็จัดพระเป็นเวรกันมา เวรละ ๒ องค์หรืออย่างมากก็ ๓ องค์ เป็นวาระ วาระละ ๗ วัน เพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาจากที่ต่างๆ เข้ามาในศาลามาหาพระ พระที่อยู่เป็นเวรนี้จะเป็นผู้ดูแล เป็นหน้าที่ทุกอย่างต้อนรับขับสู้ เหตุผลกลไกอะไรก็ต้องมาเกี่ยวข้องกับพระที่ครัวนั่นแหละ แล้วก็เข้าถึงเรา ปฏิบัติกันมาอย่างนั้นตลอด การประกอบความพากเพียรนี้เราเน้นหนักตลอด ไม่ให้มีอ่อนแอทางความพากความเพียร พระวัดป่าบ้านตาดการประพฤติปฏิบัติทางความพากความเพียรไม่มีย่อหย่อน ใครย่อหย่อนไม่ได้ 
เราถึงจะแก่ขนาดไหน เราเดินจงกรมนั่งสมาธิไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แต่จิตใจของเรามันไม่มีวัย มีความเข้มแข็งตามหลักธรรมชาติของตนอยู่เสมอ ใครอ่อนรู้ทันที ใครมีลักษณะยังไงควรเตือนเตือน ควรดุดุ ควรขับไล่ขับทันที เพราะฉะนั้นความพากเพียรของพระในวัดป่าบ้านตาด จึงไม่มีคำว่าลดหย่อนอ่อนกำลังลงไปเพราะมีจำนวนพระมากและมีงานมาก งานก็ไม่ให้มี ตัดงานออกไปเพื่อให้งานทางด้านจิตตภาวนาหนาแน่นขึ้นเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นของตัว ด้วยเหตุนี้ทางวัดป่าบ้านตาดจึงไม่ให้มีลดหย่อนผ่อนผันในการประกอบความพากเพียรตลอดมา ถึงจะมีพระจำนวนมากน้อยความเคลื่อนไหวของพระ จะต้องเป็นระเบียบไปตามหลักธรรมหลักวินัยเหมือนกัน 
จะแฉลบออกไปไม่ได้ เพราะเราปกครอง  ดูองค์ไหนเคลื่อนคลาดยังไง เคลื่อนไหวไปไหนมาไหนผิดถูกประการใดกับหลักธรรมวินัยเรียนมาด้วยกันทุกคน มันก็รู้ ทีนี้องค์ไหนปฏิบัติก็ให้ถูกต้องตามหลักธรรมหลักวินัย แม้จะมีจำนวนมากก็ไม่แสลงตาแสลงหูของกันและกัน อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก นี่ละเราปฏิบัติ ทุกวันนี้เรียกว่าเราลดหย่อนผ่อนผันมากกับพระ ประหนึ่งว่าหูหนวกตาบอดไปบ้าง มันหากเป็นของมันเอง เฒ่าแก่มาแล้วค่อยปล่อยไปๆ เรื่อยๆ 
ภาระทั้งหลายแต่ก่อน โอ๊ เด็ดเดี่ยวเฉียบขาด การปฏิบัติข้อวัตรทั้งหลายนี้เราจะออกหน้าตลอดตั้งแต่ยังหนุ่มยังน้อย ข้อวัตรปฏิบัติอะไรนี้ประหนึ่งว่าเราเป็นบ๋อยของพระทั้งวัด ทั้งๆ ที่ท่านก็มีความขยันหมั่นเพียรทำหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกันกับเรา แต่ก็ไม่พ้นที่เราเป็นหัวหน้าซึ่งจะต้องออกเป็นผู้นำอยู่ตลอด เลยกลายเป็นว่าเป็นบ๋อยของพระในวัดก็ไม่ผิด โดยไม่มีเจตนามันก็เป็นอย่างนั้น นี่ละวัดป่าบ้านตาดที่พออยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะการปฏิบัติมีความสม่ำเสมอทางความพากเพียร ทางการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี้เรียกว่าความเพียร เรียกว่างานของพระแท้ ไม่ให้ลดหย่อนสำหรับวัดป่าบ้านตาดเรา ให้มีความสม่ำเสมอตลอดมา
ผู้คนที่จะเข้าไปในบริเวณนั้นเราก็ห้ามไม่ให้เข้า หากมีความจำเป็นที่ควรจะเข้าให้พระนำเข้าไปเลย ผู้สำคัญ ผู้มีนิสัยวาสนาบุญญาภิสมภารควรที่จะเป็นที่สนิทสนมกับใจกับพระได้เป็นประโยชน์แก่ศาสนาได้นี้ ไปนั้นอยากไปดูโน้นนี้ เราสั่งพระไว้ถึงเราไม่อยู่ก็สั่ง พระท่านเป็นหัวหน้า ท่านจะมานำไปดูทุกแง่ทุกมุมหมดเลย พาไปเองคือไม่ให้ไปสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ว่าหญิงว่าชาย จะให้ไปเฉพาะบุคคลที่มีความจำเป็นสำหรับรับใช้พระในวัดคนหนึ่งสองคนเท่านั้นเอง ที่เข้านอกออกในได้อยู่ในบริเวณนั้น นอกนั้นเข้าไม่ได้ เราปฏิบัติมาอย่างนั้น 
เพราะความเข้มงวดกวดขันทางภาคปฏิบัติกำจัดกิเลสออกจากใจ ต้องมีความเข้มแข็ง สติสตังติดแนบอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ให้คุ้นกับใคร ไม่ให้มีโลกามิสเข้าไปยุ่ง อยากให้เขาเคารพนับถือ ให้เขาเลื่อมใส ให้เขาถวายจตุปัจจัยไทยทานมากๆ อย่างนี้สำหรับวัดป่าบ้านตาดไม่มี บอกตรงๆ ยกธรรมขึ้นเลย ความเลิศเลออยู่กับธรรมนี้หมด สิ่งใดในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีวิเศษ เป็นส้วมเป็นถานไปตามๆ กันหมดนั้นแหละ ถ้าหลงมัน ถ้าไม่หลงก็พอจับจ่ายใช้สอยไปบ้างตามความจำเป็น แต่ไม่ถือว่าเป็นสำคัญยิ่งกว่าความพากเพียรของพระ 
ท่านทำอย่างนั้น ปฏิบัติไม่ให้มีคุ้นมีชินกับใคร ยิ่งเกี่ยวกับเรื่องโลกามิสด้วยความเคารพนับถือสินจ้างรางวัลคนนั้นจะถวายนั้น ถวายนี้ จะเห็นแก่นั้นเป็นสำคัญยิ่งกว่าธรรมไม่ได้ หากว่าจะเป็นมาก็เป็นมาตามธรรม ตามธรรมก็ไม่เหนือธรรมนี่ คำว่าตามธรรมก็เดินตามหลังธรรม ก็อนุโลมไปตามนั้น แต่จะให้เหนือธรรม มาเหยียบย่ำทำลายธรรมนี้ไม่ได้ เราเองก็ปฏิบัติมาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการเกี่ยวข้องกับประชาชนจะเรียกว่าทั่วประเทศไทยก็ไม่ผิด การเทศนาว่าการของเรานับแต่ออกช่วยชาติแต่ก่อนเทศน์มาขนาดไหน ท่านทั้งหลายก็เคยได้ยินได้ฟัง เทศน์เด็ดเทศน์เดี่ยว เทศน์เฉียบเทศน์ขาด เทศน์แกงหม้อเล็กหม้อจิ๋วมาตั้งแต่มีแต่พระล้วนๆ เทศน์ได้เต็มเหนี่ยวเราก็เคยเทศน์ เทศน์ออกมาจนกลายเป็นแกงหม้อใหญ่ทุกวันนี้ ทั่วประเทศเขตแดนเราก็เคยเทศน์มาโดยลำดับ 
แต่ไม่มีอะไรเข้าไปแฝง ผลประโยชน์ประการใดเพื่อโลกามิสไม่มี เทศน์ด้วยความเมตตาสงสารอยากให้เป็นคนดี เพราะคนดีนี้มีค่ามากยิ่งกว่าสมบัติเงินทองข้าวของเป็นไหนๆ ถ้าคนได้ดีแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าคนเสียสิ่งเหล่านั้นจะมีกองเท่าภูเขาก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะผู้เป็นเจ้าของที่จะให้สิ่งเหล่านั้นมีราค่ำราคามันขึ้นอยู่กับเจ้าของ ถ้าเจ้าของดีแล้วสิ่งเหล่านั้นมีมากมีน้อยดีไปหมด ถ้าเจ้าของไม่ดีเลวไปด้วยกันทั้งนั้นละ การปฏิบัติธรรมจึงถือธรรมเป็นหลักเกณฑ์อันใหญ่หลวง ไม่ให้มีอะไรเหนือธรรมไป..
ด้วย กลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม ขององค์หลวงตาฯ และคุณงามความดีขององค์หลวงตาฯ เป็นที่ตั้ง  ที่ท่านได้สร้างสมมาจนถึงวาระสุดท้ายอันป็นชาติสุดท้ายของท่าน เหล่าลูกศิษย์ต่างเคารพคุณงามความดีนั้น จึงเห็นควรสร้างเจดีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและ คติตัวอย่างแก่เหล่าลูกศิษย์  อันจะได้ปฏิบัติตามรอยพ่อแม่ครูจารย์ และได้เคารพกราบไหว้บูชา อีกทั้งเป็นคติเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณูปการขององค์หลวงตาที่เมตตาสงเคราะห์ทั้งทางโลกและทางธรรม

จึงมีการประชุมสงฆ์ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ คณะสงฆ์จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป ได้ประชุมกันโดยหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ จ.อุดรธานี เป็นประธานสงฆ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานที่และรูปแบบของพิพิธภัณฑ์และเจดีย์ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้คณะสงฆ์วัดป่าบ้านตาดตัดสินใจเลือกสถานที่ โดยให้ปรึกษาหลวงปู่ลี กุสลธโร วัดเกษรศีลคุณธรรมเจดีย์ (วัดภูผาแดง) จ.อุดรธานี  โดยข้อสรุปในเบื้องต้นเห็นควรดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์และเจดีย์ในที่ไม่ห่างไกลจากเมรุฯ โดยรักษาสภาพเดิมของเมรุไว้ ซึ่งต่อมามีมติถวายนามอันเป็นมหามงคล แก่ปูชนียสถานแห่งนี้ว่า..
“พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)”